ตะลุยเยาวราช ไหว้ 3 วัดจีน เสริมมงคลตรุษจีน
เริ่มวัดแรกกันที่ "วัดมังกรกมลาวาส" หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า "วัดเล่งเน่ยยี่" วัดเก่าแก่ที่มีคนแวะเวียนไปกราบไหว้กันแน่นขนัดในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนอย่างนี้จำนวนคนก็ยิ่งเยอะขึ้นเป็นทวีคูณ สังเกตได้จากควันธูปหนาที่ลอยฟุ้งอยู่ภายในวัดไม่จางหาย สำหรับชื่อจีนของวัดที่มีชื่อว่า "เล่งเน่ยยี่" นั้น เล่ง แปลว่ามังกร เน่ย แปลว่าดอกบัว ส่วน ยี่ ก็หมายถึงวัด ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามวัดให้ใหม่ในภาษาไทย ที่มีความหมายครบถ้วนตามชื่อจีนว่า "วัดมังกรกมลาวาส" นั่นเอง วัดในนิกายจีนแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัด และโปรดเกล้าฯให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้ายร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2414 และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 8 ปี จึงแล้วเสร็จเป็นวัดสำคัญที่ชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพศรัทธามาโดยตลอด | ||||
ภายในวัดเล่งเน่ยยี่นี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสีทองแบบจีน มีวิหารอยู่ด้านหน้า ประดิษฐานรูปท้าวจตุโลกบาลเป็นรูปหล่อเขียนสี แต่งกายแบบนักรบจีน และยังมีรูปปั้นของเทพเจ้าตามความเชื่อในลัทธิเต๋าและเทพเจ้าพื้นเมืองอื่นๆ ของจีน นอกจากนั้นยังมีวิหารอีก 3 หลัง คือวิหารอวโลกิเตศวร ประดิษฐานรูปเจ้าแม่กวนอิม วิหารปฐมบูรพาจารย์ ประดิษฐานรูปเหมือนของพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร และวิหารสังฆปรินายก ประดิษฐานเซียนหลักโจ้ว ซึ่งเป็นหมู่เทพซึ่งเชื่อกันว่าจะให้ความคุ้มครอง ช่วยในเรื่องสุขภาพ การค้า และความรักได้ด้วย กลุ่มอาคารทั้งหมดประกอบด้วยอิฐและไม้เป็นโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาอุโบสถและวิหารจตุโลกบาลแสดงโครงสร้าง ขื่อ คาน ตามแบบสกุลช่างแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณมีการประดับตกแต่ง อาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆประกอบเป็นลวดลายสิริมงคลตาม ความเชื่อแบบจีน มีการวาดลวดลายและแกะสลักลวดลาย ปิดทองอย่างสวยงาม มีการใช้โมเสคติดผนังทั้งหมด จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว | ||||
จากถนนเจริญกรุง ฉันเดินผ่านตลาดเยาวราชซึ่งเต็มไปด้วยผู้คน เรียกว่าแทบไม่ต้องเดิน แต่ไหลตามกระแสของฝูงชนที่มาจับจ่ายใช้เงินซื้อข้าวของเตรียมไว้สำหรับงานตรุษจีนที่ใกล้จะถึงแล้วนี้ ถึงแม้ต้องเบียดเสียดกับคลื่นมหาชน แต่ฉันก็ทำใจให้เป็นเรื่องสนุก เป็นสีสันของเยาวราชที่หาที่ไหนไม่มีเหมือน เมื่อเดินมาทะลุถึงถนนเยาวราช เดินเลียบถนนมาทางขวามือเพื่อมาที่ตรอกเต๊า หรือตรอกวัดกันมาตุยาราม เพื่อมาที่วัดจีนแห่งที่สอง คือที่ "วัดบำเพ็ญจีนพรต" หรือ "วัดย่งฮกยี่" ที่แต่เดิมนั้นเป็นเพียงวิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ร้าง มีชื่อว่าย่งฮกอำ สร้างในปี พ.ศ.2338 กล่าวกันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และต่อมาพระอาจารย์สกเห็งจาริกมาจากประเทศจีน และได้มาอาศัยอยู่ที่นี่ ท่านได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเป็นย่งฮกยี่ในปี พ.ศ.2430 และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานนามมาให้ว่า "วัดบำเพ็ญจีนพรต" และยังมีป้ายพระราชทานนามวัดประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถให้ได้เห็นกันอยู่จนปัจจุบัน | ||||
เมื่อเดินเข้ามาในวัดบำเพ็ญจีนพรตแล้ว ก็จะได้พบกับพระเมตไตรยโพธิสัตว์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถเป็นอย่างแรก พระอุโบสถของวัดนั้นก็เล็กไปตามขนาดวัด คือมีความกว้าง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร เท่านั้นเอง ตัวอาคารโครงสร้างไม้แบบจีนผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูน เป็นจั่วปั้นลมตามแบบสถาปัตยกรรมจีน ตามสกุลช่างจีนแต้จิ๋ว | ||||
นอกจากจะไหว้พระและเทพเจ้าในพระอุโบสถแล้ว เราก็ยังสามารถเดินขึ้นไปยังชั้นบนของตัววัด ซึ่งมีเทพเจ้าต่างๆให้กราบไหว้กัน โดยบนชั้นสามนั้นจะมีรูปปั้นขนาดเล็กของเทพเจ้าจีนต่างๆ ส่วนชั้นสี่ประดิษฐานพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ และป้ายวิญญาณของบูรพาจารย์อดีตเจ้าอาวาสทั้งหลาย ส่วนชั้นห้านั้นก็ประดิษฐานพระอวโลกิเตศวร และพระพุทธรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า ใครที่สนใจก็สามารถมากราบไหว้กันได้ตามศรัทธา | ||||
| ||||
นอกจากนั้นแล้ว ที่ฝาผนังทั้งด้านซ้ายและขวาภายในพระอุโบสถนี้ ก็ยังเป็นกระเบื้องที่มีลวดลายเป็นพระศรีศากยมุนีหรือพระพุทธเจ้าติดอยู่รายรอบเป็นหมื่นๆองค์ ซึ่งก็เปรียบเสมือนว่าพระองค์ทรงมาเป็นสักขีพยานสดับรับฟังการสวดมนต์และคำอธิษฐานของเรานั่นเอง และนี่ก็คือวัดส่วนหนึ่งในเยาวราช ที่ฉันนำมาแนะนำให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปกราบไหว้กันในช่วงตรุษจีนนี้ ***************************************** "วัดโลกานุเคราะห์" ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดโทร.0-2226-2719 "วัดบำเพ็ญจีนพรต" ตั้งอยู่ในตรอกวัดกันมาตุยาราม ถนนเยาวราช สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดโทร.0-2222-4789 "วัดมังกรกมลาวาส" วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดโทร.0-2222-3975 |